วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

พระราชกรณียกิจ









พระราชกรณียกิจ


การจัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า "...ตอนเริ่มต้นโครงการ ลูกสี่คนก็อยู่ในวัยที่อยากรู้อยากเห็นทั้งนั้น... ทำให้เกิดความคิดว่า ในเมืองไทยนี้การศึกษาแม้จะทำกันดี ก็จะต้องช่วยกันหน่อย เพราะว่ามีเยาวชนมากเหลือเกิน โรงเรียน ครู ไม่มีทางที่จะมีได้เพียงพอ จึงคิดดูว่าหลักการของฝรั่งโน้นนั้นก็คือต้องให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือมีความรู้มากกว่า สอนผู้ที่มีอายุหรือมีความรู้น้อยกว่า จะได้ความรู้มาเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีความรู้มากกว่า อายุมากกว่าด้วยเพราะสามารถที่จะสอน การสอนนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เพิ่มพูนความรู้ของตนเองแต่ในการนี้จะต้องมีรากฐานอะไรอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงได้คิดทำสารานุกรมนี้ด้วยหลักการนี้..."สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จะบรรลุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดก็สามารถค้นหาอ่านได้โดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของราษฎรอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและสถานที่เล่าเรียนหนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี เยาวชนสามารถหาความรู้ช่วยตนเองได้จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่าง ๆ แต่ละเรื่องออกเป็น ๓ ตอน หรือ ๓ ระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านเข้าใจได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดาใช้หนังสือนั้นเป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้นเมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่าวิชาแต่ละสาขามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึงสิ่งที่จะต้องควบคู่กันไปกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่นอกจากจะต้องมีสถานที่เรียนแล้วก็จะต้องมีครูผู้มีหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยมาก ด้วยต้องพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กและเยาวชนของไทยเป็นคนดีมีศีลธรรม มีจริยธรรมมีคุณธรรม ประพฤติปฏิบัติตนแต่ในสิ่งที่ดีงามที่ถูกที่ควร การจะเป็นดังนั้นได้ย่อมต้องหมายความว่าจะต้องได้ครูที่ดีที่เป็นครูที่แท้มาเป็นผู้อบรมสั่งสอน ความเอาพระราชหฤทัยใส่ห่วงใยในเรื่องครูผู้สอนนั้นเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ครูอาวุโสประจำปี ๒๕๒๒ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า "...ครูที่แท้นั้นเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียรต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดกลั้นและอดทน ต้องรักษาวินัย... ต้องปลีกตัวปลีกใจจากความสะดวกสบายและความสนุกรื่นเริงที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน..ต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ ต้องเมตตาหวังดี ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ..." และพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่งที่พระราชทานแก่คณะผู้แทนครูจีน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ มีความตอนหนึ่งว่า "...ครูนั้นจะเป็นครูจีน ครูฝรั่ง ครูแขก ชาติใดก็ตาม ผู้ที่เป็นครูนั้นจะต้องมีจิตใจที่สูง ถ้าครูใดมีจิตใจสูงก็จะทำงานของตัวด้วยความสำเร็จ จะเป็นที่นับถือของลูกศิษย์ และเป็นที่เคารพของผู้ที่เป็นประชาชนทั่ว ๆไป...ใช้คำว่าครูนั้นดูเป็นเหมือนต่ำกว่าคำว่าอาจารย์...แต่ความจริงคำว่าครูนั้นเป็นคำที่สูงยิ่ง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพบูชาได้...ครูเป็นเหมือนคำศักดิ์สิทธิ์...ครูเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการและเป็นผู้ถ่ายทอดความประพฤติ..วิธีคิด และความดีงามทุกอย่าง ซึ่งจะสร้างให้บุคคลเป็นคนที่ดี..." จากพระราชดำรัสที่ได้อัญเชิญมานี้เป็นสิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคุณลักษณะเหล่านี้คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูได้มีอยู่ภายในตัวครูทุกคนเพราะเมื่อเด็กและเยาวชนได้แบบอย่างที่ดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดคุณลักษณะต่างๆ ที่ดีเหล่านั้นก็ย่อมจะต้องซึมซาบเข้าไปในตัวเด็กและเยาวชนของชาติบ้างไม่มากก็น้อยและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อการอุทิศตัวทำงานของครูผู้ที่จะต้องมีความเสียสละอย่างสูงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระมหากรุณาทรงรับมูลนิธิช่วยครูอาวุโสไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูดีเด่นได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติและเงินช่วยเหลือของมูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประจำทุกปี พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านการศึกษาที่ทรงมีต่อเด็กและเยาวชนของชาติจึงเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญในอันที่จะช่วยพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพเพื่อจักได้พัฒนาบ้านเมืองให้มีคุณภาพเพื่อจักได้พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปให้ทัดเทียมกันนานาอารยประเทศที่ได้มีการพัฒนาแล้วการศึกษาเป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวิชาการและประสบการณ์แก่ผู้เรียนให้มีความรู้ ความคิด สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ด้วยความเรียบร้อย การศึกษาจึงต้องสนองความต้องการของบุคคลและชุมชนแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับราษฎรจนอาจกล่าวได้ว่ายิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด พระองค์มีพระวิริยะอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาค โดยเฉพาะท้องถิ่นทุรกันดาร จึงทรงทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี ทรงทราบดีว่ายังมีเกษตรกรที่ยากจนที่ขาดที่ทำกินอยู่อีกเป็นจำนวนมาก อันเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไขให้ราษฎรเหล่านั้นได้มีที่ทำกินเท่าที่พระองค์จะทรงช่วยเหลือได้ และจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำ ได้ทอดพระเนตรเห็นว่ามีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่จำนวนหนึ่งในเขตจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเมื่อทรงตรวจสอบดูแล้วพบว่ายังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไร้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ เหตุเพราะเป็นที่ดินกันดารไม่มีผู้ใดสนใจ จึงได้ทรงจับจองไว้ในพระปรมาภิไธยจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ แล้วทรงหาวิธีการที่จะพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ให้สามารถการเกษตรได้ เพื่อที่จะได้นำไปพระราชทานแก่เกษตรกรยากจนไร้ที่ทำกิน ได้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง จะได้พึ่งพาตนเองได้และไม่เป็นปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต โดยพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดทำเป็นโครงการใช้ชื่อว่า "โครงการจัดพัฒนาที่ดินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตามพระราชประสงค์ทุบกะพง" ในระยะเริ่มแรกของโครงการได้ทำการคัดเลือกให้เกษตรกรจำนวน ๑๒๐ ครอบครัว ได้เข้าไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าวนี้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกของโครงการมีสิทธิทำกินในที่ดินที่ได้รับพระราชทานนี้ตลอดไปชั่วลูกหลานแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะนำไปซื้อขายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง และเมื่อมีเกษตรกรได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่อาศัยทำกินในที่ดินแห่งนี้แล้วก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการทำมาหากินเพื่อเป็นกำลังใจแก่เกษตรกรเหล่านี้อยู่เสมอฯ เช่นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคมพุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังไกลกังวล หัวหิน ไปทรงเยี่ยมเกษตรกรในโครงการจัดพัฒนาที่ดินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตามพระราชประสงค์หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในโอกาสนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่เกษตรกรตอนหนึ่งความว่า "...ที่ได้มาเยี่ยมทุกปี ก็ได้เห็นความก้าวหน้าได้ทุกปีเหมือนกัน และที่ได้รายงานรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวดีขึ้น ก็นับว่าเร็วพอดูเหมือนกัน เมื่อเข้ามาโดยรถยนต์ก็เห็นว่ากำลังสร้างบ้านกัน... ถ้าทุกคนขยันภายในไม่กี่ปีทุกคนก็จะมีบ้านที่น่าอยู่ แต่ก็ต้องใช้เวลาและความเพียร...ถ้าทำต่อไปด้วยความเพียรพยายามก็เชื่อว่าจะสร้างได้ทุกคน และต่อไปก็มีความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้นก็ขอให้รักษาความสามัคคี ความเพียรพยายาม ความบากบั่น ความเข้มแข็ง โดยเฉพาะสามัคคีซึ่งสำคัญ เพื่อที่จะอุดหนุนซึ่งกันและกันให้โครงการต่าง ๆไปด้วยดี ... ก็ขอให้รักษาความดีนี้ไว้ เพื่อให้ทุกคนมีความเจริญ มีความอยู่ดีกินดี และมีความพอใจในงานของตัว.." และเมื่อทอดพระเนตรเห็นว่า "โครงการจัดพัฒนาที่ดินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตามพระราชประสงค์หุบกะพง" ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นสำหรับจัดที่ดินพระราชทานแก่เกษตรกรยากจนไร้ที่ทำกิน ได้เข้าอยู่อาศัยทำกิน ได้ผลดี คือเกษตรกรสามารถที่จะทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นที่น่าพอพระราชหฤทัยในระดับหนึ่งแล้วก็มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการต่อเนื่องในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีกที่ "ดอนขุนห้วย" อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และที่ "หนองพลับ" ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรีโครงการจัดพัฒนาที่ดินในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามพระราชประสงค์ ทั้ง ๓ แห่งนี้ โปรดฯให้จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของหมู่บ้านสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มโครงการ และแต่ละแห่งก็ได้ดำเนินการในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกของโครงการได้มีการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานมีอะไรก็ให้คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นการป้องกันไม่ให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาเอารัดเอาเปรียบสมาชิกของโครงการได้ พระราชประสงค์นี้เห็นได้ชัดจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสมาชิกสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗ ว่า "....เคยพูดมาหลายปีแล้วว่าเราจะต้องพัฒนาตัวเอง ถ้ามีผู้มาช่วยเราก็ยินดี แต่ว่าต้องรับการช่วยเหลือส่วนหนึ่ง และสร้างด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่ง ในที่สุดจะต้องสร้างตัวเองด้วยตัวเองโดยแท้ สำหรับหมู่บ้านนี้ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ หมายถึงว่าเป็นหมู่บ้านที่สมาชิกทุกคนอยู่ด้วยกันและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จึงมีความสำคัญที่สุดที่จะให้ทุกคนเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีเมตตาซึ่งกันและกัน ผู้ใดที่มีโอกาสมีรายได้มากกว่าผู้อื่น ก็ควรที่จะเอาใจใส่ผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า เพราะว่าถ้าแต่ละคนเอาใจใส่และทำให้ทุกคนมีความก้าวหน้าได้ จะทำให้ตนเองมีความก้าวหน้าได้โดยแท้ ด้วยความมั่นคง ผู้ใดมีความคิดก็ควรจะนำมาปรึกษาหารือกัน...จะทำให้ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านเป็นไปอย่างดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น...และจะทำให้แต่ละคนทั้งหมดมีความรู้สึกว่า ได้สร้างตัวเอง...มีความรู้สึกสบายใจ มีความรู้สึกว่าเป็นผู้ที่อยู่ด้วยความสบายและนับถือตัวเองได้..."ประเทศไทยของเราค่อนข้างจะโชคดีทางด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เพราะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านพาเอาฝนมาตกในช่วงต้นฤดูฝน และมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาฝนมาตกตอนปลายฤดูฝน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์แต่ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นแต่กาลก่อน เนื่องมาจากเหตุหลายประการด้วยกัน เช่นประชากรเพิ่มมากขึ้น มีความจำเป็นต้องการพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่ม จึงมีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย ตลอดทั้งมีความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำมากขึ้นตามประชากรที่เพิ่มทรัพยากรของประเทศไทยจึงตกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งจากข้อมูลของทางราชการนั้น ในพุทธศักราช ๒๕๐๔ ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้จำนวนประมาณ ๑๗๐ ล้านไร่ ในพุทธศักราช ๒๕๒๘ เหลือพื้นที่ป่าไม้จำนวนประมาณ ๙๔ ล้าน ๓ แสนไร่ และข้อมูลหลังสุดที่ทำการสำรวจเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๖ ประเทศไทยของเราเหลือพื้นที่ที่เป็นป่าไม้เพียง ๘๓ ล้าน ๔ แสน ไร่เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่รัฐได้ยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไปแล้วตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๒ ซึ่ง แสดงให้เห็นว่ายังคงมีผู้ทำการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอยู่โดยเฉลี่ยอีกปีละประมาณ ๑ ล้าน ๑ แสนไร่ และจากการที่ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา ๓๐ ถึง ๔๐ ปีอย่างต่อเนื่องกันนั้น ทำให้เกิดมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการเสียความสมดุลของระบบนิเวศน์ กล่าวคือเมื่อแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลายอุณหภูมิบนผิวดินก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไป หน้าดินถูกชะล้างทำลายไปเพราะขาดต้นไม้คอยช่วยปกป้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบและตระหนักในเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือและภูมิภาคใกล้เคียงนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นป่าไม้ที่เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งจากราษฎรพื้นราบ และจากราษฎรชาวไทยภูเขา และเพื่อเป็นการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารไม่ให้ต้องถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากกว่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง "โครงการหลวง" ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในพุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการหลวงเมื่อแรกตั้งว่า "...ที่มีโครงการนี้จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่ง... คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปรามการสูบฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญคือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีจะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดี พอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไปประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก..""โครงการหลวง" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม ช่วยลดการทำลายทรัพยากรป่าไม้กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือให้ป่าอยู่ในส่วนที่ควรเป็นป่าและทำไร่ทำสวนทำนาในส่วนที่ควรเพาะปลูกไม่ให้ทั้งสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกันก็จะสามารถฟื้นฟูสภาพป่าไม้ได้เป็นบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ทางตอนบนของประเทศซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันสำคัญของพื้นที่ราบภาคกลางทางตอนใต้ซึ่งเรื่องการฟื้นฟูสภาพป่านั้นถ้ามนุษย์ไม่ไปบุกรุกยึดครองแผ้วถางป่าเพื่อทำการอย่างอื่นแล้ว ป่าไม้นั้นก็จะฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ ในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ว่า "...เรื่องต้นไม้ขึ้นเองมีอีกแห่งหนึ่ง คือโครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี ที่ตรงนั้นอยู่ใกล้ภูเขา เป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรมเพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี เริ่มทำโครงการนั้นมาประมาณ ๗ ปีเหมือนกัน ไปดูเมื่อสัก ๒ ปี หลังจากทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านี้สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นได้ คืออย่าไปตอแยต้นไม้ อย่าไปรังแกต้นไม้ เพียงแต่ว่าคุ้มครองเขาหน่อย เขาขึ้นเอง อย่างในระยะ ๒๐ ปี ที่ผ่านมานี้ เมืองไทยจากที่อุดมสมบูรณ์เป็นสวน เป็นป่า กลายเป็นทะเลทราย เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื่นได้ ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเองไม่ต้องทำอะไรมาก..."ในส่วนโครงการหลวงนั้นได้ดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่องจริงจัง สามารถหยุดยั้งราษฎรชาวไทยภูเขาไม่ให้ถางป่าทำไร่เลื่อนลอยได้ อันเป็นการสงวนทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ตอนบนของประเทศไว้ได้ส่วนหนึ่ง และผลงานที่สำคัญยิ่งของโครงการหลวง คือการกำจัดการปลูกฝิ่นได้โดยสันติวิธีอันเป็นการสร้างสรรค์และก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างนานาชาติ จนโครงการหลวงได้รับการคัดเลือกตัดสินให้ได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ในสาขา INTERNATIONAL UNDERSTANDING ต่อมา ในเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จดทะเบียนโครงการหลวงเป็นมูลนิธิ เพื่อจะได้เป็นองค์กรนิติบุคคลมีกฎหมายรองรับ สำหรับดำเนินงานให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นสืบต่อไป โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการจดทะเบียนโครงการหลวงเป็น "มูลนิธิโครงการหลวง" เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ และมีพระมหากรุณาทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยาพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติและเอาพระราชหฤทัยใส่มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องอีกประการหนึ่ง คือพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพราะมีพระราชดำริว่าการรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและเกิดสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้นโดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพของร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นแต่ผู้สร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ และจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการรักษาสุขภาพอนามัยเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในพุทธศักราช ๒๕๑๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ สถานที่ใด ก็โปรดฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทานตามเสด็จไปรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วยด้วยทุกครั้ง หน่วยแพทย์พระราชทานนี้เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพอนามัยให้แก่ราษฎรผู้เจ็บป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดล้วนยากจน ขาดความรู้ขั้นพื้นฐานด้านการสาธารณสุขที่จะดูแลรักษาตัวเอง ดังนั้น การที่มีแพทย์พระราชทานออกไปช่วยดูแลบำบัดรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยอย่างถูกต้อง โดยราษฎรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บอย่างหาที่สุดมิได้และจากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎในแต่ละปีก็จะมีราษฎรที่เจ็บป่วยมาขอรับการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นทุกปี โครงการที่เป็นพระราชดำริด้านการแพทย์และการสาธารณสุขจึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง และในระยะต่อมาก็ได้มีคณะของหน่วยแพทย์อาสาขอพระราชทานตามเสด็จไปสมทบช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ราษฎรขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของราษฎร ที่มีแพทย์อาสาเข้ามาช่วยในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องกับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้ราษฎรในชนบทห่างไกลได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัยอย่างถูกต้องและให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นมา ในเรื่องนี้ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ ตอนหนึ่งความว่า "...การที่ได้จัดคณะแพทย์ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นระยะหนึ่งนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งในโรงพยาบาลของจังหวัดนั้น ๆ ไม่สามารถที่จะบริการได้เต็มที่ เพราะบางแห่งอาจจะขาดแคลนผู้มีฝีมือ ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างดีที่จะช่วยชีวิตเขาได้ คณะของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์นี้ได้ช่วยชีวิตคนนับได้ว่าเป็นร้อย ๆ คน เพราะว่าสามารถที่จะบริการได้ทันท่วงที และไม่ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนในการเสียค่าใช้จ่ายด้วยการออกหน่วยเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์ในด้านการรักษาประชาชนอย่างหนึ่ง และก็เป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง สำหรับนายแพทย์ที่ออกไปก็ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง และสำหรับนายแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดนั้น ๆ ก็ได้ประโยชน์มาก ๆ เท่ากับได้เข้าฝึกอบรม.... ได้ความรู้มากทั้งในด้านได้ทราบสถิติของความเจ็บไข้ได้ป่วยและจะช่วยอย่างไรทั้งในด้านฝีมือและวิชาการด้วย..."พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักสังคมสงเคราะห์ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรทั้วไปในเกือบจะทุกๆ ด้าน ทั้งผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ขาดแคลนที่ทำมาหากิน ผู้ที่ขาดแคลนสถานที่ศึกษา ขาดแคลนทุนการศึกษาสงเคราะห์ผู้ที่ประสบภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคมพุทธศักราช ๒๕๐๕ ได้เกิดวาตภัยครั้งยิ่งใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ทำความเสียหายถึง ๑๒ จังหวัด มีประชาชนต้องเสียชีวิต โรงเรียนประถมศึกษาถูกพายุพัดพังถึง ๑๒ โรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ราษฎร มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลสมบทเงินช่วยเหลืออีกจำนวนมาก หลังจากการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในระยะแรกแล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่ ๓ ล้านบาท จึงมีพระราชดำริให้นำไปตั้งเป็นกองทุนหาดอกผลไว้สงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยครั้งนั้น และไว้ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบสาธารณสุขภัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการถูกวาตภัยก่อสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ ทดแทนโรงเรียนที่ถูกพายุพัดพังไปรวม ๑๒ โรง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์" และในเวลาต่อมาได้ร่วมกับจังหวัดอื่น ๆ เช่น หนองคาย เชียงรายมหาสารคาม สร้างโรงเรียนขึ้นทดแทนโรงเรียนที่ถูกสาธารณภัย เช่น ไฟไหม้ หรือถูกพายุพัดพัง นอกจากนั้น มูลนิธิฯยังรับเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่สูญเสียผู้ปกครองในคราวถูกวาตภัยเมื่อปี ๒๕๐๕ นั้นและครั้งต่อๆ มา ได้ดูแลเลี้ยงดูและให้การศึกษาจนสุดสติปัญญาและความต้องการของเด็กแต่ละคนเป็นจำนวนกว่า ๒๐๐ คน พระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวจึงเป็นการสร้างคนอย่างแท้จริง และคนเหล่านั้นก็จะเป็นกำลังของบ้านเมืองสืบไป พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงยิ่งใหญ่จนสุดที่จะพรรณนาได้ กล่าวได้ว่าเกิดความทุกข์แก่ราษฎรที่ใด ก็จะพบเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ที่นั้น พระองค์ไม่เคยที่จะทรงทอดทิ้งราษฎรผู้ประสบภัยหรือประสบความทุกข์ยากให้ต้องอยู่เดียวดาย หากไม่สามารถจะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานความช่วยเหลือได้ด้วยพระองค์แล้ว ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชบริพารที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเดินทางไปให้ความช่วยเหลือ และในเรื่องงานสังคมสงเคราะห์นั้นได้เคยพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการอำนวยการ ประธานคณะกรรมการประสานงานส่วนภูมิภาค และผู้อำนวยการของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ ไว้ ความตอนหนึ่งว่า "...การสังคมสงเคราะห์นั้นก็แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ได้สองสามอย่าง ถ้าแบ่งเป็นว่าจะไปสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ตกทุกข์ได้ยากนี้ คนเรามีทุกข์ที่เป็นตามสภาพ คือว่าเกิดมาก็มีทุกข์ คือมีความเดือดร้อนความยากลำบากในการครองชีพในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นทุกข์ตามสภาพ เกิดมาแล้วก็มีทุกข์ ทุกข์นั่นที่สำคัญก็คือต้องมีอาหาร ต้องมีจตุปัจจัย จึงพูดกันว่าทุกคนที่เกิดแล้วเมื่อมีกำลังก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือมีอาชีพการงานที่สุจริตเพื่อที่จะเลี้ยงชีพ...มีคนเป็นจำนวนมากในโลกนี้ที่ไม่มีอาหารใส่ท้องก็เป็นทุกข์มากจึงต้องสงเคราะห์ ในประเทศไทยก็นับว่าน้อย เพราะว่ายังมีที่จะทำมาหากินได้ดีพอสมควร แล้วก็โดยที่โครงสร้างของสังคมยังดี ตรงที่คนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยมากก็ได้รับการช่วยเหลือเป็นประเพณีมา อันนี้ก็อยู่ในเรื่องของการสงเคราะห์..ทุกข์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นทุกข์ในโอกาสบางโอกาส ซึ่งก็เป็นระดับชาติเหมือนกัน แต่ว่าเป็นโอกาส เช่นทุกข์จากภัยธรรมชาติหรือภัยที่เกิดขึ้นมาตามโอกาส ดังนี้ก็จะต้องช่วยผู้ที่ประสบภัย จะเป็นอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ที่เกิดมา หรือภัยอื่น ๆ ที่มีมากมาย อันนี้ก็จะต้องช่วย เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ทุกข์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น นอกจากนี้ก็มีการสงเคราะห์ทุกข์ที่คล้ายคลึงกับทุกข์อันแรกคือตามสภาพ แต่ว่าจะเป็นเฉพาะกับคนอย่างพวกที่พิการ ทุพพลภาพ เป็นต้น เพราะเกิดมาทุพพลภาพ เพราะโรคภัยไข้เจ็บหรือเพราะอุปัทวเหตุก็ตาม.. อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องสงเคราะห์ทั้งนั้น...."ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งแรก ในพุทธศักราช ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นพรุหรือหนองน้ำเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้และด้วยเหตุที่ได้เคยทอดพระเนตรการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียมาแล้ว จึงทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในเรื่องระบบระบายน้ำอย่างแจ่มแจ้ง ดังนั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๗ ว่าราษฎรในเขตอำเภอบาเจาะและในเขตอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่รอบ ๆ พรุในช่วงฤดูฝนเพราะเหตุที่น้ำฝนไหลบ่าจากภูเขาลงสู่พรุเป็นจำนวนมากและท่วมล้นเข้าไปในไร่นาของราษฎร คิดเป็นพื้นที่ที่เสียหายประมาณปีละ ๖๐,๐๐๐ ไร่เศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยแก่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานได้รับสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการหาทางป้องกันอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบาเจาะ และอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุบาเจาะลงสู่ทะเลมีความยาว ๕.๖ กิโลเมตร แล้วเสด็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน ผลปรากฏว่าในเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นปีที่มีมรสุมหนัก ฝนตกเป็นจำนวนมาก แต่ได้อาศัยคลองระบายน้ำที่มีพระราชดำริให้ขุดไว้แล้วนั้นสามารถที่จะระบายน้ำออกจากพรุลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดี และไม่เกิดสภาพอุทกภัยอย่างที่เคยเกิด นับเป็นครั้งแรกในรอบ ๕ ปีที่ราษฎรสามารถปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าวไว้บริโภคและจำหน่ายได้ โดยเฉลี่ยจากเดิมที่เคยเก็บเกี่ยวได้ไร่ละ ๒๔ ถัง เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ ๕๐ ถังในการดำเนินงานขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุบาเจาะลงสู่ทะเลนั้นเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยมากเพราะเป็นการดำเนินงานในลักษณะที่พิเศษนอกเหนือจากงานประจำของกรมชลประทานที่ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐและงานประจำในด้านการดำเนินงานในโครงการชลประทานขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนั้น เมื่อทรงหายจากอาการทรงพระประชวรด้วยพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานในเดือนเมษายน ศกเดียวกันนั้น พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ไปประทับแรม ณ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อจะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผลงานการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุบาเจาะได้ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรบริเวณสองฝั่งของคลองระบายน้ำ ซึ่งมีสะพานข้ามคลองเป็นระยะๆ เพื่อให้ราษฎรใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้โดยสะดวก และเมื่องานขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุบาเจาะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประตูบังคับน้ำ ปล่อยน้ำเสียออกจากพรุลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๘ โครงการระบายน้ำออกจากพรุบาเจาะนั้น เป็นการดำเนินงานที่ถือเป็นต้นแบบสำหรับที่จะนำไปดำเนินการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุในท้องที่อื่น ๆ เช่น โครงการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุโต๊ะแดง อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น และนอกจากจะมีพระราชดำริให้กรมชลประทานขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุลงสู่ทะเลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อไม่ให้ราษฎรต้องเดือดร้อนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการต่าง ๆ วิจัยสภาพดินที่ได้จากพรุที่แห้งขึ้นทุกระยะ การปรับปรุงดินในระยะแรกนั้นได้จัดปลูกหญ้าเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยปรับปรุงดินตามธรรมชาติ ส่วนพวกวัชพืชที่ทับถมภายในพรุนั้น เมื่อขุดขึ้นมาตากแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ได้ทดลองปลูกพืชไร่และพืชผักสวนครัวเพื่อเก็บสถิติเกี่ยวกับความเจริญเติบโตในพื้นที่พรุที่แห้งแล้ว โดยใส่ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ กัน การทดลองดังกล่าวได้ดำเนินการที่ศูนย์พัฒนาที่ดินนรานิวาส บ้านโคกกระดูกหมู ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ของกองบริรักษ์ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจัดสร้างขึ้นสนองพระราชดำริ เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเขตพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันต่อไป จะได้เกิดประโยชน์แก่ราษฎร เช่นในพื้นที่พรุที่แห้งแล้วที่หมู่บ้านปิเหล็ง ตำบลมะรือโบตะวันออก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งเป็นโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ปิเหล็ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ แต่เดิมพรุปิเหล็งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี และท่วมล้นขอบพรุในฤดูมรสุม เมื่อระบายน้ำออกไปแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาสได้พัฒนาพื้นที่ขอบพรุส่วนหนึ่ง และกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้พื้นที่สหกรณ์นิคมบ้านปิเหล็งเป็นหมู่บ้านพัฒนาสมบูรณ์แบบ โดยร่วม จัดสรรที่ดินให้สมาชิกเข้าทำกินครอบครัวละ ๓๐ ไร่ เป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการจัดหมู่บ้านสหกรณ์ในแบบลักษณะหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพราะทรงทราบเป็นอย่างดีว่า สหกรณ์นั้น หากสามารถนำมาใช้ให้ถูกวิธีแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งแก่สมาชิกสหกรณ์ที่ตนเองสังกัดอยู่ และจะเกิดผลดีต่อส่วนรวมคือประเทศชาติในท้ายที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสหกรณ์ในรูปแบบของสหกรณ์อเนกประสงค์ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระราชทานในโอกาสที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์นำประธานสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคมทั่วประเทศเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ ว่า "...อันคำว่าสหกรณ์นี้ เป็นคำที่กว้าง ความหมายจริงจังของคำว่าสหกรณ์ ก็คือการร่วมกันสร้างชีวิตในการงานและความเป็นอยู่ ถ้าดูตามตำราซึ่งมีมากหลาย ก็จะเห็นเขาแบ่งกันว่า มีสหกรณ์หลายชนิด โดยเฉพาะมีสหกรณ์การเกษตร มีสหกรณ์การบริโภค มีสหกรณ์อื่น ๆ หลายอย่าง จนกระทั่งมีสหกรณ์อเนกประสงค์ ความจริงทุกอย่างที่กล่าวว่าเป็นสหกรณ์ และการตั้งสหกรณ์ก็น่าจะเป็นในด้านสหกรณ์อเนกประสงค์...เพราะว่าชีวิตของแต่ละคน แต่ละครอบครัวและแต่ละหมู่บ้าน ที่อยู่กันเป็นหมู่ เป็นกลุ่มบุคคล ย่อมจะต้องอาศัยกิจกรรมหลายอย่าง คืองานหลายอย่าง เช่นการทำมาหากิน จะเป็นการเพาะปลูกก็ตาม หรือการผลิตทางอุตสาหกรรมก็ตาม หรือการผลิตทางเกษตรกรรม และมาดัดแปลงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ตาม ไม่มีอย่างเดียวที่จะประทังชีวิตได้ จึงต้องมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับตัวในด้านต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะตั้งสหกรณ์ คือร่วมแรงกันแบบสหกรณ์อเนกประสงค์ อาจจะหนักในกิจการด้านหนึ่งด้านใดก็ตาม แต่สหกรณ์นี้จะต้องปฏิบัติในกิจการหลายด้าน.."

ไม่มีความคิดเห็น: